หน้าเว็บ

.

ฝาง

ฝาง (Caesalpinia sappan Linn.)


ฝางเป็นไม้พุ่มใหญ่ หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ซึ่งผลัดใบในช่วงเวลาสั้นๆ และแตกใบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว มีหนามแข็งโค้งทั่วไปทั้งต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกคล้ายหางนกยูงไทย ดอกสีเหลือง ๕ กลีบ ออกดอกเป็นช่อ ที่ยอดและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ฝักกว้างสั้นรูปขอบขนานปลายตัด และมีติ่งจะงอย แหลมอยู่มุมหนึ่งขนาดยาว ๗-๑๒ ซม. เมื่อแก่ ฝักจะมีสีน้ำตาลแกมแดง พบขึ้นเป็นกลุ่มตามภูเขาหินปูน ที่แห้งแล้ง และชายป่าดิบแล้งทั่วๆ ไป ฝางออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน หลังจากนั้น ประมาณ ๓ เดือน ฝักก็จะแก่ ชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียก ได้แก่ ฝางส้ม ฝางเสน และหนามโค้ง การขยายพันธุ์ทำได้ ทั้งเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง

คนไทยรู้จักใช้แก่น และเนื้อไม้ฝาง ซึ่งมีสีเหลืองอมส้ม ย้อมผ้าฝ้าย และผ้าไหม ให้เป็นสีแดง อย่างสวยงามมาแต่โบราณ

มีบันทึกว่า สมัยอยุธยา ซึ่งไทยมีการติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ได้มีการส่งไม้ฝางไปเป็นของขวัญ ถวายพระเจ้ากรุงจีน และขณะเดียวกันก็ส่งเป็นสินค้าออกไปขายทั้งในญี่ปุ่นและจีนด้วย นับว่าฝางเป็นของที่มีค่ามากอย่างหนึ่งตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน มีการส่งเสริมการใช้สีย้อมผ้าที่ได้ จากธรรมชาติ ฝางจึงได้รับความสนใจนำมาปลูก และใช้ย้อมผ้ากันมากขึ้น

แก่นไม้ฝางยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยอีกประการหนึ่ง คือ การนำมาทำน้ำยาอุทัย สำหรับผสมน้ำเย็นให้มีสีสวย ดื่มแก้กระหายให้ความชื่นใจ เป็นที่นิยมของคนไทย สีชมพูเข้มของน้ำยาอุทัย เป็นสีที่สดใสมาก แต่ปลอดภัยต่อการบริโภค เพราะสลายตัวง่าย ไม่สะสมในร่างกาย ตำรายาไทยใช้แก่นฝาง เป็นยาบำรุงโลหิต ขับประจำเดือน ใช้เป็นยาภายนอกรักษาน้ำกัดเท้าและแก้คุดทะราด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น